วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทดสอบปลายภาคเรียน


ให้นักศึกษาอ่านแล้วตอบคำถามประเด็นต่อไปนี้ (40 คะแนน)

1.ความหมายคำว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ   พระราชบัญญัติ   พระราชกำหนด  พระราชกฤษฎีกา  เทศบัญญัติ
กฎหมายรัฐธรรมนูญ  คือ กฎหมายสูงสุดในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งจะวางระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐหรืออำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตลอดจนการกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย
พระราชบัญญัติ  คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เป็นกฎหมายหลักที่สำคัญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นรองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ
พระราชกำหนด  คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การตราพระราชกำหนดให้กระทำได้เฉพาะ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจนหลีกเลี่ยงไม่ได้
พระราชกฤษฎีกา  คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาจะออกได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก พระราชกฤษฎีกานั้นก็ถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย
เทศบัญญัติ  คือ กฎหมายที่เทศบาลออกเพื่อใช้บังคับในเขตเทศบาลทั้งนี้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาล

2.กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในการปกครองประเทศ  ปัจจุบันเป็นอย่างไร   ในการกำหนดออกกฎหมายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดของการประกาศใช้ เป็นอย่างไร  หากเราไม่มีรัฐธรรมนูญนักศึกษาคิดว่าจะเป็นอย่างไร อธิบาย
กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองประเทศ ปัจจุบันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแก่ชนชาวไทยทุกคน ซึ่งหากเราไม่มีรัฐธรรมนูญ ดิฉันคิดว่า ประเทศไทยนี้ ไม่มีอะไรที่จะยึดเป็นหลักว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด ต่างคนก็ต่างจะเอาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ไม่มีกฎเกณฑ์ กติกา และคงวุ่นวาย มีการแย่งชิงอำนาจ เอารัดเอาเปรียบ และประเทศไทยจะไม่มีความสามัคคี ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นในการกำหนดออกกฎหมายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดของการประกาศใช้ คือ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากที่สุด คือ ต้องเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ของคนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้คนไทยอยู่กันอย่างสงบสุข

3.ในสภาพปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 มีนักวิชาการต้องการจะ แก้ไขท่านคิดว่าควรที่จะแก้ไขหรือไม่ประเด็นใดอธิบายให้เหตุผล
           รัฐธรรมนูญมาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" ดิฉันคิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการลงโทษ เพราะบางคนอาจไม่ได้ตั้งใจกระทำผิดจริงๆ ควรได้รับการพิจารณาอย่างเสมอภาค แต่หากกระทำผิดจริงๆ อาจเพิ่มบทลงโทษ และอยากให้มีระยะเวลาในการลงโทษ 2 แบบ คือ แบบที่ตั้งใจกระทำ กับ แบบที่ไม่ได้ตั้งใจกะทำ

4.กรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านเรื่องชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เป็นกรณีพิพากขึ้นศาลโลกเรื่องดินแดนท่านเป็นคนไทยคนหนึ่งมองปัญหานี้อย่างไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรเพื่อมิให้ไทยต้องเสียดินแดน
          ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านเรื่องชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ถือว่าเรื่องนี้ เป็นข่าวที่น่าสนใจมาก เพราะเรื่องเกิดขึ้นมาจากการตีความแผนที่คนละแผ่นกัน จึงทำให้เป็นเหตุให้มีการบุกล้ำพื้นที่ระหว่างกัน  จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อคนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น และที่สำคัญคือ กรณีของเขาพระวิหารที่ตอนนี้ยังตกลงกันไม่ได้เลย  ดิฉันคิดว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ อย่าใช้ความรุนแรง เพราะถ้าใช้ความรุนแรงจะทำให้ทำลายชีวิตผู้คน และการทำมาหากิน การได้ใช้ชีวิตปกติสุขนั้นเป็นไปได้ยาก และจงใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา  และพูดคุยกันโดยใช้สันติวิธี พูดคุยกันโดยที่ไม่ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียผลประโยชน์ของกันและกัน

5.พระราชบัญญัติการศึกษาเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญการศึกษา ท่านเห็นด้วยกับประเด็นนี้หรือไม่ อธิบายให้เหตุผล
          เห็นด้วย  เพราะพระราชบัญญัติ ก็คือข้อกำหนด ระเบียบแบบแผนต่างๆที่เกี่ยวกับการศึกษาที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นการรักษาและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทางด้านต่างๆของบุคคลหรือบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญการศึกษา ที่เป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการบริหาร จัดการและดำเนินงานที่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นบทบัญญัติที่ทุกคนต้องรับรู้และรับทราบโดยทั่วกัน และที่สำคัญคือ ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

6.ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ขอให้นักศึกษาให้ความหมาย  การศึกษา  การศึกษาขั้นพื้นฐาน  การศึกษาตลอดชีวิต  การศึกษาในระบบ   การศึกษานอกระบบ  การศึกษาตามอัธยาศัย  สถานศึกษา  สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  มาตรฐานการศึกษา  การประกันคุณภาพภายใน  การประกันคุณภาพภายนอก  ผู้สอน  ครู  คณาจารย์  ผู้บริหารการศึกษา   ผู้บริหารสถานศึกษา  บุคลากรทางการศึกษา  สถานศึกษา
การศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา
การศึกษาตลอดชีวิต คือ การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
การศึกษาในระบบ คือ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตรระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
การศึกษานอกระบบ คือ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมายรูปแบบ วิธีการจัดการ
ศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
การศึกษาตามอัธยาศัย คือ เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ
สถานศึกษา คือ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัยสถาบัน มหาวิทยาลัยหน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมี วัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มาตรฐานการศึกษา คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษา
การประกันคุณภาพภายใน  คือ การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบ
คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น
การประกันคุณภาพภายนอก  คือ การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
ผู้สอน  คือ ครูและคณาจารย์ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ
ครู  คือ บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
คณาจารย์  คือ บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับรอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน
ผู้บริหารการศึกษา คือ บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารการศึกษา นอกสถานศึกษาตั้งแต่ระดับ เขตพื้นที่การศึกษาขึ้นไป
ผู้บริหารสถานศึกษา  คือ บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหาร สถานศึกษาแต่ละแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน
บุคลากรทางการศึกษา คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษารวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ

7.ในการจัดการศึกษา นักศึกษาคิดว่ามีความมุ่งหมายและหลักการจัดการใน การจัดการศึกษา อย่างไร
ความมุ่งหมายในการจัดการศึกษา ต้องจัดการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยทุกคน โดยต้องพัฒนาทุกคนให้สมบูรณ์ทุกด้านทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา ความรู้ จิตใจ มีคุณธรรม จริยธรรม และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ของการศึกษา
หลักการจัดการศึกษา ต้องจัดให้ให้กับประชาชนทุกคน อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และต้องพัฒนาสาระ กระบวนการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคนไทยตามความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา

8.มีบุคคลหนึ่งเข้าไปเป็นครูสอนหนังสือในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่เป็น ประจำกรณีมิได้รับการบรรจุเป็นครู หากพิจารณาตามกฎหมายถ้าผิดกฎหมายท่านคิดว่าจะถูกลงโทษอย่างไร   หากไม่ผิดกฎหมายท่านคิดว่าจะ มีวิธีการทำอย่างไร
หากพิจารณาตามกฎหมาย หากมีบุคคลหนึ่งเข้าไปเป็นครูสอนหนังสือในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่เป็นประจำกรณีมิได้รับการบรรจุเป็นครูจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกันกรณีแบบนี้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่จะต้องดำเนินการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้และจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด และจะต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ไม่เป็นเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

9.หากนักศึกษาต้องการสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
1. เป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู
พ.ศ. 2547
2. เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ได้รับวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาหรือ
ปริญญาตรีที่มีความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพครู
3. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือได้รับหนังสือรับรองสิทธิ์การประกอบ
วิชาชีพครูตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา
4. ไม่เป็นพระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช

10.ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าเมื่อเรียนวิชานี้ นักศึกษาได้อะไรบ้างครูผู้สอนวิชาชีพโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ Weblog มีความเหมาะสมและเป็นไปได้อย่างไร วิจารณ์แสดงความคิดเห็น และถ้าจะให้น้ำหนักวิชานี้ ควรให้เกรดอะไร  และนักศึกษาคิดว่าตนเองจะได้เกรดอะไร
จากการเรียนวิชานี้ทำให้ดิฉันได้มีความรู้เรื่องกฎหมายเป็นอย่างมาก ทั้งกฎหมายทั่วไปและกฎหมายทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ เพราะในอนาคตดิฉันจะต้องเป็นครู และเป็นแนวทางในการสอบบรรจุข้าราชการ และจากการเรียนวิชานี้ ครูผู้สอนได้มีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ Webbog มาประยุกต์ใช้ในการสอนด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้ดิฉันเกิดความสนุกและกระตือรือร้นในการเรียนรู้เรื่องกฎหมาย เพราะดิฉันสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกสบาย และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการโดยไม่จำเป็นจะต้องพกพาหนังสือที่เกี่ยวกับกฎหมายเล่มใหญ่ๆหนักๆให้เสียเวลา แต่ดิฉันสามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆผ่านทางอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ที่มีติดตัวอยู่เสมอ
       หากจะให้ดิฉันให้น้ำหนักคะแนนวิชานี้ ดิฉันคิดว่าดิฉันให้เต็มหนึ่งร้อยคะแนน เพราะวิชานี้เป็นการเรียนรู้ที่สามารถนำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยและที่เรานักศึกษาทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษา และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับแบบแผนหรือวิธีการเรียนรู้แบบเดิมๆ ดังนั้นดิฉันจึงขอให้คะแนนวิชานี้เป็นเกรด A   และดิฉันคิดว่าในการเรียนวิชานี้ ดิฉันควรได้เกรด A เช่นกัน เพราะทุกๆครั้งของการเรียนวิชานี้ดิฉันมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมาก และดิฉันคิดว่าที่ดิฉันสมควรจะได้เกรด A ก็คือ ดิฉันมีความตั้งใจในการทำงานที่เป็นกิจกรรมต่างๆอย่างเต็มที่ด้วยตนเองทุกกิจกรรม ดังนั้นดิฉันจึงสมควรจะได้เกรด A



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น