วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กิจกรรมที่ 3


ให้ศึกษาเนื้อหาพระราชบัญญัติแห่งชาติแล้วตอบคำถามต่อไปนี้

1.              ท่านคิดอย่างไร ถ้ารัฐธรรมนูณคือกฎหมายแม่บท และพระราชบัญญัติน่าจะเป็นอะไร จงอธิบายให้เหตุผล
พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่มีลำดับรองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งบังคับใช้แก่ประชาชนพระราชบัญญัติจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป

2.              ความมุ่งหมายในการจัดการศึกษากำหนดไว้อย่างไรบ้าง จงอธิบาย                                                                                                                                                       
มาตรา 6  “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ตามความข้างต้น เป้าหมายของการจัดการศึกษาจึงอยู่ที่คนไทยโดยทั่วไป ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นคนดี มีประโยชน์ มีความครบถ้วนทุกด้าน คือ
1.   ทางกาย  คือ มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง หมายความว่าการจัดการศึกษาต้องครอบคลุมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพอนามัย
2.    ทางจิตใจ คือ มีจิตใจที่อดทนเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับปัญหาหลากหลายที่เกิดได้อย่างมีสติ มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยในตัวเอง สามารถอดทนอดกลั้นต่อแรงกดดันต่างๆ
3.    ทางสติปัญญา คือ การใช้ความคิดและเหตุผล
4.    ความรู้  คือ การมุ่งให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพความต้องการของสังคมปัจจุบัน
5.    คุณธรรม และ จริยธรรม  แสดงออกในรูปของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
6.    มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต รักวัฒนธรรมไทย มีเอกลักษณ์ไทย มีมรรยาทและการวางตนในสังคม รู้จักประมาณตนเอง
7.     อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
              คุณลักษณะที่กล่าวข้างต้น อันเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษานี้ เริ่มต้นที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาซึ่งจะเป็นผู้ปลูกฝังถ่ายทอดอบรม หมายความว่า ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาต้องเป็นตัวอย่างที่ดี คือรักษาหรือพัฒนาคุณลักษณะที่ดีไว้เป็นแบบอย่าง

3.              หลักในการจัดการศึกษามีอะไรบ้าง จงอธิบาย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดหลักการศึกษาไว้ และใช้หลักการดังกล่าวเป็นตัวกำหนดสาระเนื้อหาของกฎหมายว่าด้วยการศึกษา
      หลักสำคัญในการจัดการศึกษา (ตามมาตรา 8) กำหนดไว้ 3 ประการ คือการศึกษาตลอดชีวิต การมีส่วนร่วม และการพัฒนาต่อเนื่อง ดังนี้
1.   การศึกษาตลอดชีวิต คือ คนทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษานี้ต้องครอบคลุมทุกด้าน มิใช่เฉพาะชีวิตการงานเท่านั้น และ คนแต่ละคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนและประเทศโดยส่วนรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและวัฒนธรรมด้วย ทั้งนี้ เพราะสังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และพัฒนาการทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปรอบตัวเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
2.   การมีส่วนร่วม สังคมต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะเข้ามีส่วนร่วมในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคของการจัดการศึกษา ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและช่วยดูแลการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
3.   การพัฒนาต่อเนื่อง  การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาให้ทันกับความรู้ที่ก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้ง ดังนั้น การจัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนานี้มีทั้งการค้นคิดสาระและกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ การประยุกต์ปรับปรุงเนื้อหาสาระที่มีอยู่ และการติดตามเรียนรู้เนื้อหาสาระที่มีผู้ประดิษฐ์คิดค้นมาแล้ว ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ต้องถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ ในการปรับปรุงตนเองให้ทันโลก และทันสมัย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม เพื่อประยุกต์ความรู้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การรับความรู้มาถ่ายทอดโดยปราศจากดุลยพินิจอาจก่อความเสียหายโดยไม่คาดคิด จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันดูแลให้ความรู้ใหม่ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและสังคมอย่างแท้จริง

4. หลักในการจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษา ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้มีอะไรบ้าง จงอธิบาย
กฎหมายได้ระบุหลักในการจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษาไว้ด้วย (มาตรา 9) ได้แก่
1.   หลักเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ หมายความว่าการจัดการศึกษาจะเน้นนโยบาย หลักการ และเป้าประสงค์ร่วมกัน แต่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้ดุลยพินิจเลือกเส้นทางและวิธีการปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตน
2.   หลักการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการบริหารที่ให้สถานศึกษาบริหารจัดการได้เอง ตามหลักการนี้ จำเป็นต้องแยกภาระงานด้านนโยบาย เกณฑ์และมาตรฐาน ออกจากงานด้านปฏิบัติหรืองานบริการ ทั้งนี้ หน่วยงานส่วนกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เกณฑ์และมาตรฐาน ส่วนเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงจำเป็นต้องกระจายอำนาจให้หน่วยปฏิบัติ ดูแลและรับผิดชอบ การตัดสินใจด้วยตนเองโดยหน่วยงานส่วนกลางทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน ตรวจสอบ ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยปฏิบัติที่ได้รับมอบอำนาจสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.    การกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา ตามหลักการนี้ ในเมื่อหน่วยปฏิบัติได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการได้อย่างคล่องตัวพอควรแล้ว  ก็จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการศึกษาให้หน่วยปฏิบัติรับผิดชอบ เพราะการมอบอำนาจโดยไม่มีกติกาก็เท่ากับมอบให้ทำงานโดยไม่มีเป้าหมาย ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ ในเมื่อรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทรัพยากรสนับสนุนแก่สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา ซึ่งอาจเปรียบเสมือนการซื้อสินค้าหรือบริการ ก็ต้องมีสิทธิกำหนดคุณค่าและลักษณะของสิ่งที่ต้องการซื้อ โดยยึดเป้าหมายผลการจัดการศึกษาเป็นหลัก ได้แก่ มาตรฐานการศึกษา รวมทั้งหน่วยปฏิบัติเองก็ต้องวางระบบประกันคุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อสินค้าและบริการของตน จากนั้นจำเป็นต้องมีการประเมินผลการจัดการศึกษาโดยพิจารณาจากมาตรฐานและระบบประกันคุณภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อย่างน้อยผลการประเมินจะส่งเสริมให้ผู้จัดการศึกษาแต่ละระดับได้ตระหนักว่าผลการดำเนินการของตนเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับมาตรฐานการศึกษาและเกณฑ์ชี้วัดของระบบประกันคุณภาพ และต้องหาทางปรับปรุงผลการจัดการศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานและรักษาระดับการประกันคุณภาพของตนให้จงได้ รวมทั้งยกระดับการจัดการศึกษาให้สูงขึ้นด้วย
4.   การส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามหลักสูตรการอบรมมาตรฐานต่างๆ ทั้งนี้ โดยมีเจตนาเพื่อรักษาคุณภาพของผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้อยู่ในระดับที่พึงประสงค์ และกระตุ้นส่งเสริมให้พัฒนาปรับปรุงตลอดเวลา อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับการศึกษาโดยตรง
5.   การระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆมาใช้เพื่อการจัดการศึกษา  ทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการจัดการศึกษา ได้แก่ ทรัพยากรการเงิน วัสดุอุปกรณ์ ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในการเรียนการสอน ภูมิปัญญาท้องถิ่น สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนเป็นทรัพยากรจำเป็นแต่รัฐไม่สามารถจัดหามาสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ จึงถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในการจัดการศึกษาจะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ครูอาจเชิญผู้เฒ่าในหมู่บ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาช่วยสาธิตหรือสอนวิชาที่เกี่ยวข้องได้
6.   การมีส่วนร่วม การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นในการจัดการศึกษา โดยบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆจะได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมเสนอแนะ กำกับติดตาม และสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม

5.  สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้มีอะไรบ้าง จงอธิบาย
         กฎหมายกำหนดทั้งสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการจัดการศึกษาไว้ ดังนี้
1. สิทธิที่ได้รับจากการจัดการศึกษาของรัฐ   บุคคลต้องมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีรัฐต้องจัดการศึกษาให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สิทธิส่วนนี้ได้รับการประกันไว้ไม่เพียงในกฎหมายการศึกษาเท่านั้น แต่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
สำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ รวมทั้งบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส รัฐต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ  เช่น อาจจัดสถานศึกษาพิเศษ จัดระบบการศึกษาพิเศษ ให้ทุนหรืองบประมาณพิเศษเพื่อดูแล เป็นต้น
นอกจากนี้ บุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ รัฐต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมโดยคำนึงความสามารถของบุคคลนั้นด้วย (มาตรา 10) เหตุผลสำคัญคือบุคคลที่มีความสามารถพิเศษเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ หากจัดการศึกษาปกติอาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคคลดังกล่าวให้มีความรู้ความสามารถตามศักยภาพของเขาได้ รัฐจึงมีหน้าที่ลงทุนพิเศษสำหรับบุคคลเหล่านี้ และถือเป็นสิทธิของบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษที่จะได้รับบริการทางการศึกษาซึ่งเหมาะสมสำหรับการพัฒนาศักยภาพของตน
2.  หน้าที่ในการจัดการศึกษา กฎหมายกำหนดหน้าที่ในการจัดการศึกษาของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
                บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง  มีหน้าที่จัดให้บุคคลในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับ ตลอดจนต้องจัดให้ได้รับการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับตามความพร้อมของครอบครัว (มาตรา 11) ตามความข้อนี้ ประชาชนทุกคนซึ่งมีบุตรหลานหรือผู้อุปการะต้องมีภาระตามกำลังความสามารถ สองระดับ
                ภาระขั้นแรก คือการส่งบุตรหลานหรือผู้ใต้ปกครองของตนเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ (เทียบได้ตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม)  ภาระส่วนนี้เป็นภาระบังคับซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ละเลยอาจได้รับโทษได้ หากละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  เมื่อเยาวชนได้รับการศึกษาภาคบังคับซึ่งเป็นพื้นฐานต่ำสุดแล้ว  หากครอบครัวมีความพร้อมก็พึงรับภาระขั้นที่สอง ได้แก่ การส่งเสียให้ได้เล่าเรียนสูงขึ้นไปตามกำลังความสามารถ เช่น เรียนจนถึงขั้นอุดมศึกษา เป็นต้น หน้าที่ในการสนับสนุนการศึกษาส่วนนี้ถือเป็นการเข้าร่วมจัดการศึกษาทั้งโดยบังคับ และโดยกำลังความสามารถของประชาชน
3.  สิทธิในการจัดการศึกษา บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง (มาตรา 12)
                ด้วยเหตุผลที่ว่า การศึกษาเป็นเรื่องของประชาชนทุกหมู่เหล่า เริ่มตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ดังนั้น ไม่เพียงประชาชนจะต้องมีหน้าที่สนับสนุนการศึกษาแก่บุตรหลานของตนเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิจัดการศึกษาได้ด้วย คือต้องถือว่ารัฐไม่มีอำนาจผูกขาดในการจัดการศึกษา หากประชาชนสามารถจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน ก็ต้องยอมให้ประชาชนมีสิทธิจัดการศึกษา
                ดังนั้น ตามกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนอาจจัดการศึกษาได้หลากหลาย เช่น ครอบครัวอาจจัดการศึกษาได้เอง คือพ่อแม่เป็นผู้สอนเอง หรือหลายครอบครัวอาจร่วมกันจัดการศึกษาแก่บุตรหลานของตน ในทำนองเดียวกัน องค์กรประชาชนระดับต่าง ๆ ก็อาจจัดการศึกษาได้เอง เช่น สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนมากอาจตั้งสถานศึกษาได้เอง หรือสถาบันศาสนาและสถาบันสังคมอื่นก็มีสิทธิจัดการศึกษาได้ ทั้งนี้ เพื่อประกันว่าประชาชนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน รัฐก็ย่อมมีส่วนกำหนดกฎเกณฑ์ในการประเมินและเทียบโอนระดับการศึกษาของเยาวชน เพื่อให้สามารถเข้าศึกษาต่อได้โดยไม่เสียโอกาส
4.  สิทธิประโยชน์จากการจัดการศึกษา เมื่อจัดการศึกษาแล้วประชาชนก็ย่อมมีสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากรัฐ ดังนี้ (มาตรา 13 และ 14)
4.1)    การสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน รัฐต้องเข้ามามีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้จัดการศึกษาภาคประชาชนมีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่บุตร หรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ เช่น อาจช่วยเหลือทางวิชาการ การแนะนำให้คำปรึกษา การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การสนับสนุนให้ใช้เวลาบางส่วนเข้าเรียนร่วมกับนักเรียนในชั้นเรียนปกติของรัฐ เป็นต้น
4.2)    เงินอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจากการจัดการศึกษาต้องมีค่าใช้จ่ายเพราะเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อรัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว รัฐก็พึงจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ครอบครัวหรือกลุ่มประชาชนด้วย ส่วนจะมากน้อยเพียงใดและจัดสรรอย่างไรก็เป็นเรื่องที่รัฐจะกำหนด โดยให้ออกเป็นกฎหมาย
4.3)    การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษา สิ่งที่รัฐจะสนับสนุนนอกจากเงินอุดหนุนแล้ว ก็คือการสนับสนุนด้านภาษี คือลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีในกรณีที่ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายการศึกษา แต่ทั้งนี้ต้องให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

6. ระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันนี้มีกี่ระบบอะไรบ้าง จงอธิบาย
ระบบการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
รูปแบบของการจัดการศึกษา
รูปแบบการศึกษาที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดนั้นแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
1. การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษาในระบบเช่นนี้ หมายถึงการศึกษาที่จัดรูปแบบไว้แน่นอนเป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ส่วนใหญ่จัดในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเรียก อย่างอื่น ซึ่งเรารู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว การศึกษาในระบบอาจจัดในชั้นเรียนหรือเป็นการศึกษาทางไกลก็ได้
2. การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่มตัวอย่างของการศึกษานอกระบบ ได้แก่ การศึกษานอกโรงเรียน การฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เป็นต้น
3. การศึกษาตามอัธยาศัย  เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส  โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ การศึกษารูปแบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง  เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเรียนรู้สามารถเลือกเนื้อหาที่สนใจเป็นประโยชน์กับตนได้  และสามารถใช้เวลาที่ปลอดจากภารกิจการงานอื่นศึกษาเล่าเรียนได้ จึงเรียกว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย  ทั้งนี้รูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัยมีหลากหลาย เช่น การฟังบรรยายพิเศษ การศึกษาจากเอกสาร  การเยี่ยมชม การชมการสาธิต การรับฟังรายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์  การสืบค้นเนื้อหาสาระจากอินเทอร์เน็ตหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากรัฐมีหน้าที่ร่วมกับชุมชนจัดแหล่งเรียนรู้ ผู้บริหารและครูควรเข้ามามีส่วนใกล้ชิดร่วมมือกับประชาชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ

 7.   ท่านสามารถนำแนวการจัดการศึกษา ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร
สามารถนำแนวการจัดการศึกษา ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติได้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดการศึกษาต้องเน้นทั้งความรู้  คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา  จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะ กระบวนการคิด และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ไว้ สนับสนุนให้บรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวก การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ 

8. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 มีประเด็นใดบ้างและเหตุผลที่สำคัญในการแก้ไขคืออะไร
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3
 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 37 การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยืดเขตพื้นที่การศึกษา โดยคำนึงถึงระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรม และความเหมาะสมด้านอื่นด้วย เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา
                ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาการศึกษา มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
ในกรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา การกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจบริหารและจัดการได้ตามวรรคหนึ่ง กระทรวงอาจจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้เพื่อเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้
            (1) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาอารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ
            (2) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบกรือการศึกษาตามอัธยาศัย
            (3) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ
            (4) การจัดการศึกษาทางไกล และการจัดการศึกษาที่ให้บริการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา
            ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคห้าของมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545
             "ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน"
เหตุผลที่แก้ไขคือ โดยที่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีระบบการบริหารและการจัดการศึกษา  ของทั้งสองระดับรวมอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเกิดความไม่คล่องตัวและเกิดปัญหาการพัฒนาการศึกษา สมควรแยกเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อให้การบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

9.  การที่กฎหมายกำหนดให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีฐานะเป็นนิติบุคคลท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
                เห็นด้วย ที่ให้สถานศึกษาจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพราะกระทรวงได้มีการกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษา  ทั้งด้านวิชาการ  งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่โดยตรง  การกระจายอำนาจดังกล่าว    จะทำให้สถานศึกษาคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการ  ตามหลักของการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

10. การที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใด ระดับหนึ่ง หรือทุกระดับตามความพร้อม ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
เห็นด้วย ในการที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใด ระดับหนึ่ง หรือทุกระดับตามความพร้อมนั้นเพราะ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาเพื่อ พัฒนาคุณภาพและศักยภาพคนในท้องถิ่นให้มีคุณลักษณะที่สามารถบูรณาการวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และความต้องการของสังคมและประเทศชาติ ตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และมีสิทธิเสรีภาพในการจัดอบรมเลี้ยงดู และจัดการศึกษาให้แก่บุคคล โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนการสอน หลักสูตรหรือจุดมุ่งหมายในการเรียนของแต่ละระดับได้  และสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย  แต่ต้องเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

11. หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษามีอะไรบ้าง จงอธิบาย
หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
1. การประกันคุณภาพภายในให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา และเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ที่ต้องดำเนินการอย่างมีระบบและต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปรัชญา หลักการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจ ของสถานศึกษาที่กำหนดไว้
2. จัดให้มีกลุ่ม ฝ่ายหรือคณะกรรมการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและผู้รับบริการ เพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
3. พัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเพิ่มในส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
4.  จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพและแผนปฏิบัติการของสถานศึกษาและดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
5. ดำเนินการตรวจสอบ ติดตามเพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรฐานการศึกษา
6.  จัดทำรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเสนอหน่วยงานต้นสังกัด ภาคีเครือข่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
7. รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และมีการกำหนดมาตรการร่วมกันในการพัฒนาสถานศึกษาไปสู่มาตรฐานการศึกษาที่กำหนด

12.  การที่กฎหมายกำหนดให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ทั้งรัฐและเอกชน ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
                เห็นด้วย เพราะ การที่จะเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น  จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเพื่อ เป็นหลักประกันความมีมาตรฐานและคุณภาพของการประกอบวิชาชีพ  และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น  อย่างเช่นเรา อนาคตจะเป็นครู ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เพราะใบประกอบวิชาชีพครูเป็นตัวชี้วัดว่าเรานั้นมีความสามารถพอที่จะไปประกอบวิชาชีพครู และ เป็นการประกันคุณภาพว่าเราจะสอนนักเรียนให้มีความรู้ความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ

13. ท่านมีแนวทางในการระดมทุน และทรัพยากรเพื่อการศึกษาในท้องถิ่นของท่านอย่างไรบ้าง
                แนวทางในการระดมทุน และทรัพยากรเพื่อการศึกษาในท้องถิ่นของดิฉัน คือ ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนในด้านงบประมาณจากทรัพยากรในท้องถิ่นที่ตนมีอยู่ มาจัดการเรียนการสอนให้กับคนในท้องถิ่น เพื่อให้โอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชาชน ที่ด้อยโอกาสทางทางการศึกษาให้ได้เรียน และมีความรู้ ความคิด ความสามารถ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน                                                
14. ท่านมีแนวทางในการพัฒนาสื่อ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
                แนวทางในการพัฒนาสื่อ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น ดิฉันคิดว่า ปัจจุบันนี้ โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลง และก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านสื่อหรือเทคโนโลยีสารสนเทศได้มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การจัดการศึกษาก็จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนให้ทันต่อยุคโลกาภิวัฒนี้ คือ ควรจัดหาสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างหลากหลาย และต้องศึกษาติดตามความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาสื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน และต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสอนอีกด้วย

 




วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กิจกรรมที่ 2


ให้นักศึกษาอ่าน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้วตอบคำถามดังต่อไปนี้

1.ประเด็นที่อ่านแล้วมีอะไรที่น่าสนใจ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
                - มาตรา 4  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง
                - มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
                 การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด  เชื้อชาติ ภาษา  เพศ   อายุ  ความพิการ  สภาพทางกายหรือสุขภาพ  สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ 
                 มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม


2. สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิชานี้ตรงกับรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
                ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา
                มาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้อง จัดให้อย่าง   ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
                ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับสิทธิตามวรรค หนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น
                การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ
                - มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ
                การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน
หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
      ส่วนที่ 4  แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม  การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม
                - มาตรา 80 รัฐต้องดำเนินการตามแนว นโยบายด้านสังคม   การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม
                ที่เกี่ยวกับการศึกษา จะอยู่ใน (3) และ (4)
                 (3)   พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับ  และทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ  จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทัน การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกรวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึก ของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
            (4)  ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์การ ทางศาสนาและเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรู้และความจำที่น่าจะนำไปตอบข้อสอบได้มีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง
    -  การออกเสียง ประชามติ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2550
    -  ประการราชกิจจานุเบกษา และประกาศใช้ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2550
   -  ผู้เยาว์
ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังอ่อนในด้านอายุ ร่างกาย และสติปัญญา
กฎหมายจัดให้ผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของบุคคล ซึ่งเรียกว่า "ผู้แทนโดยชอบธรรม"
ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ผู้ใช้อำนาจปกครอง
2. ผู้ปกครอง
ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะต่อเมื่อ
1. อายุ 20 ปีบริบูรณ์
2. สมรสแล้วถูกต้องตามกฎหมาย
-  สถานะ คือ ตำแหน่งหรือฐานะของบุคคล
                คนเกิดในบ้าน แจ้งภายใน 15 วัน
                คนเกิดนอกบ้าน แจ้งภายใน 30 วัน
                คนตายในบ้าน แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง
                คนตายนอกบ้าน แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อพบศพ
-  กฎหมายการสมรส ที่สมบูรณ์นั้น จะต้องมีการจดทะเบียนสมรส เพื่อให้ถูกต้องทางด้านนิตินัย
      คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส
  • จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ และต้องนำบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
    กรณีที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
    สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
สมรสกับคู่สมรสเดิม
มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
รัฐธรรมนูญ สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้
                 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ
                 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงโครงสร้างการปกครองประเทศ
                 รัฐธรรมนูญวางหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ
                 รัฐธรรมนูญช่วยทำให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

4. ทำไมเราต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้นักศึกษาบอกเหตุผลประกอบการอภิปราย

                เราต้องมีความรู้ และ ความเข้าใจ  เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ  แห่งราชอาณาจักรไทย   เพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ และเคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันละกัน  เคารพเกียรติ  ศักดิ์ศรี  ความเป็นมนุษย์ รวมทั้งปฏิบัติตนต่อผู้อื่น อย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน

5. นักศึกษามีความคิดเห็นอย่างไรในการที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ   เพราะเหตุใดที่จะต้องแก้ไขและทำไมมีประชาชนบางกลุ่มจึงคัดค้าน ขอให้นักศึกษาบอกถึงเหตุผลที่จะต้องแก้ไข
                ดิฉันคิดว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจะเกิดผลดีต่อประชาชนชาวไทย และประเทศชาติ ได้ ดิฉันก็เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าแก้ไขแล้วทำให้เกิดผลประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พวกใดพวกหนึ่ง หรือแก้ไขเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็ไม่ควรแก้ เพราะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ และต้องคิดเสมอว่า แก้ไขแล้วจะเกิดผลอย่างไร ประชาชนและประเทศชาติได้รับผลประโยชน์ หรือเสียประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมีคนเห็นด้วยและ ไม่เห็นด้วย จึงทำให้ประชาชนบางกลุ่มคัดค้านซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่สามารถกระทำได้
                เหตุผลที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
                - รัฐธรรมนูญข้อใดๆ  ที่ไม่สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนแต่กลับ เอื้อประโยชน์ให้กับหมู่ชนบางกลุ่ม
                - ปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

6. ปัจจุบันการปกครองประเทศมีอำนาจทั้ง 3 อำนาจ ที่จะต้องมีความสมดุลซึ่งกันและกัน และนักศึกษามองถึงปัญหารัฐสภา  สภาผู้แทนราษฎร์  สภานิติบัญญัติ มีภาวะที่ดำรงอยู่อย่างไร มีความมั่งคงที่จะรักษาความเสถียรต่อการบริหารบ้านเมืองหรือไม่ขอให้นัก ศึกษาอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว
            การปกครองประเทศ ไม่มีความมั่นคงที่จะรักษาความเสถียร ต่อการบริหารบ้านเมือง ถ้าอำนาจทั้ง 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ ไม่มีความสมดุลซึ่งกันและกัน เพราะการปกครองประเทศจะต้องคำนึงถึงส่วนรวม ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เพราะการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยึดเอาความคิดของตนเป็นที่ตั้ง ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน จึงทำให้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน แบ่งสีกัน จนเกิดปัญหาต่างๆมากมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บ้านเมืองและประเทศชาติไม่เจริญ และตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน